ถอดความรู้จากการอบรมครูภาษาอังกฤษ ในการอบรมครูตามโครงการพัฒนาครูทั้งระบบ (ไทยเข้มแข็ง)

ถอดความรู้จากการอบรมครูภาษาอังกฤษ

ในการอบรมครูตามโครงการพัฒนาครูทั้งระบบ (ไทยเข้มแข็ง)

 

นั่งร้าน เกี่ยวอะไรกับการเขียน

อ.พจนาถ ขอประเสริฐ

หลักสูตรสาขาวิชาภาษาอังกฤษ

คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

15 สิงหาคม 2555

 

          จากที่ได้เป็นวิทยากรในการอบรมครูสอนภาษาอังกฤษ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในโครงการพัฒนาครูทั้งระบบ (ไทยเข้มแข็ง) ระหว่างวันที่ 1-3 สิงหาคม 2555 ณ โรงแรมนิภาการ์เด้น อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานีนั้น ในการอบรมได้มีครูที่เข้าร่วมประมาณ 50 ท่านจาก 3 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี ระนอง และชุมพร โดยเนื้อหาที่ได้อบรมจะเป็นในเรื่องของการสอนในมุมมองใหม่ๆ ในทักษะทั้ง 4 ได้แก่ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน นอกจากนี้ยังให้การอบรมในเรื่องของการพัฒนาการคิด และการเขียนแผนการสอนให้ตรงตามมาตรฐานและตัวชี้วัดของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ซึ่งผมได้รับหน้าที่ให้บรรยายในส่วนของ New Perspectives in Writing Skill เมื่อพูดถึงทักษะนี้แล้ว ผมได้ให้ครูช่วยกันอภิปรายถึงทักษะนี้ ว่ามีปัญหาอย่างไรบ้าง ซึ่งครูทั้งหลายและผมเองก็พูดออกมาในทำนองเดียวกันว่า ทักษะการเขียน เป็นทักษะที่ยากที่สุดในบรรดาทักษะทั้งหมด แน่นอนครับ ในการเรียนภาษาต่างประเทศ ไม่ว่าภาษาใดๆ ก็ตาม แม้จะกล่าวว่า ถ้าอ่านหนังสือเยอะ ก็จะเขียนได้เยอะ ผมเองก็เคยจับประเด็นนี้มาเพื่อพัฒนาการเขียนของตัวเอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การที่อ่านเยอะนั้น ในบางครั้งก็อาจจะช่วยได้เฉพาะสิ่งที่เป็น background knowledge หรือความรู้ภูมิหลัง เท่านั้นเอง การเขียนเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนอย่างมาก เพราะทุกคนจะต้องมีความชำนาญในไวยากรณ์ คำศัพท์ และโครงสร้าง ซึ่งนักเรียนไทยมักจะอาศัยการแปลเสียมากกว่า บางครั้ง เมื่อนักเรียนได้รับการบ้านมาทำ นักเรียนก็อาศัยเครื่องช่วยแปล ซึ่งเครื่องช่วยแปลนั้น จะช่วยเราได้เมื่อยามคับขัน และสิ่งที่ได้ จะไม่ถูกต้องเต็มร้อยอย่างแน่นอน บางครั้งยิ่งอ่านก็ยิ่งน่าปวดศีรษะอยู่ไม่ใช่น้อย

          ในการอบรมครั้งนี้ ผมได้เสนอแนวคิดในเรื่องของการฝึกให้นักเรียนได้เขียนเพื่อให้เกิดทักษะ ซึ่งแนวคิดนี้เราเรียกว่า เทคนิค Scaffolded Writing พูดง่ายๆ คือ การเขียนด้วยวิธีแบบนั่งร้าน ตอนแรกผมได้หัวข้อนี้มา ผมก็ยังขำๆ ว่าเกี่ยวอะไรกับนั่งร้านด้วย แต่หากดูดีๆ แล้วจะพบว่า นั่งร้าน คือ โครงสร้างที่ช่วยให้ช่างก่อสร้างปีนขึ้นไปซ่อมแซมหรือก่อสร้างอาคาร โดยขึ้นไปทีละชั้นๆ เขาเลยเอาคำนี้มาเปรียบเทียบกับการเขียน ที่เป็นการเขียนที่เกิดจากการพัฒนา 2 ขั้น คือ ขั้นฝึกเพื่อให้เกิดทักษะ และขั้นนำทักษะไปใช้ในการเขียน

          ขั้นฝึกเพื่อให้เกิดทักษะ พูดง่ายๆ ก็คือ การปูพื้นฐานนั่นเอง สิ่งที่ผมอยากจะฝากให้ครูและนักเรียนต้องทำความเข้าใจคือ จะต้องฝึกในโครงสร้างประโยคให้เป็น ซึ่งในห้องเรียนของผม ได้ย้ำนักศึกษาเสมอว่า โครงสร้างประโยค อย่างน้อยต้องเกิดจาก Subject + Verb + Complement และให้นักศึกษาฝึกวิเคราะห์ว่าข้อความที่ให้ไปเป็นประโยคหรือเป็นเพียงแค่วลี จากนั้น ถึงจะมาฝึกต่อในขั้นของ Tense แต่สำหรับนักเรียนม.ปลายและนักศึกษามหาวิทยาลัย ควรจะเป็นแค่การทบทวนด้วยแบบฝึกหัด และควรเน้นในเรื่องของ Subject-Verb Agreement ด้วย เพราะนักเรียน นักศึกษามักจะใช้ผิดอยู่เสมอ จากนั้น ก็จะสอนในเรื่องของรูปแบบประโยค สำหรับผม ให้นักศึกษาได้เข้าใจใน 3 รูปแบบแรกก่อน คือ Simple Sentence, Compound Sentence และ Complex Sentence ส่วน Compound-Complex Sentence ไว้เหมาะกับการสอนวิชาการเขียนเชิงวิชาการ เพราะผมกลัวนักศึกษาผมจะเสียกำลังใจเสียก่อน ซึ่งครู นักเรียน นักศึกษาควรทบทวนเรื่องนี้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และใช้จนแม่นยำ จึงจะไปสู่ขั้นตอนอีกขั้นหนึ่งได้

          ต่อมา คือขั้นการนำทักษะไปใช้ในการเขียน ก็จะเกี่ยวข้องกับการเขียนตามรูปแบบ (Guided Writing) การเขียนอนุเฉท (Paragraph Writing) และการเขียนเรียงความ (Essay Writing) ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ท้าทายผู้สอนมาก ทำอย่างไรถึงจะให้นักเรียนเขียนได้เป็น การวางพื้นฐานให้นักเรียนได้เข้าใจระบบ จะทำให้ผู้เรียนสามารถเขียนได้อย่างถูกต้อง และเป็นระบบ พึงระลึกไว้เสมอว่า Writing Process โดยหลักๆ ได้แก่ ขั้นระดมสมอง ขั้นกลั่นกรอง ขั้นเขียนร่าง ขั้นปรับปรุง และขั้นเขียนฉบับจริงนั้นจะต้องเอามาสอนด้วย ซึ่งครูสามารถหาเรื่องราวเหล่านี้ได้ในหนังสือที่สอนการเขียนโดยทั่วไป ทั้งนี้ต้องให้กำลังใจนักเรียน นักศึกษาด้วยนะครับ ย้ำอยู่เสมอว่า Practice makes perfect! หรือ ฝึกฝนเข้าไว้ สมบูรณ์แน่นอน

          อย่าได้กลัวว่าจะเขียนผิดก่อน เดี๋ยวนี้ เราต้องฝึกเขียนให้คล่องก่อน ให้ชินกับการเขียน แล้วจึงมาแก้ไขความถูกต้องควบคู่กัน เปรียบเหมือนที่เราพูดภาษาอังกฤษ คนที่พูดคล่อง แต่ผิดไวยากรณ์ หากฝรั่งเข้าใจ ฝรั่งเขาก็จะทวนสิ่งที่เราพูด เพื่อให้เขาและเราเข้าใจตรงกัน แล้วเราก็เอาสิ่งที่เขาแก้นั่นแหละ มาจำใส่ระบบใหม่ และเราก็จะใช้ได้อย่างถูกต้องเอง