เรื่องเล่า จากการสัมมนาคณาจารย์คณะครุศาสตร์ มรส. 1-2 เม.ย.56 : การจัดประสบการณ์และควบคุมคุณภาพการจัดการเรียนรู้ สู่มาตรฐาน TQF โดย รศ.ดร.สุพักตร์ พิบูลย์

 

เรื่องเล่า จากการสัมมนาคณาจารย์คณะครุศาสตร์ มรส. 1-2 เม.ย.56 : การจัดประสบการณ์และควบคุมคุณภาพการจัดการเรียนรู้ สู่มาตรฐาน TQF

 

ในวันที่ 1-2 เมษายน 2556 ผมได้มีโอกาสไปร่วมเป็นวิทยากรในการประชุมคณาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (นำโดย ผศ.ดร.บรรจง เจริญสุข คณบดี) จัดที่ “ต้นธาร รีสอร์ท & สปา” อ.ขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช  เราได้เสวนากันหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้และสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ ด้วยความคาดหวังที่จะให้คณะครุศาสตร์ เป็นต้นแบบในการจัดการเรียนการสอนและการควบคุมคุณภาพบัณฑิตตามกรอบมาตรฐาน TQF ซึ่งผมเองในฐานะกรรมการคณะครุศาสตร์ มรส. ก็มีความคาดหวังในเรื่องนี้เป็นพิเศษ อีกทั้งในพิธีเปิดการประชุม ท่านอธิการบดี มรส.-ดร.ประโยชน์ คุปต์กาญจนากุล ก็ได้กล่าวถึงความคาดหวังที่จะให้คณะครุศาสตร์ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการยกระดับและควบคุมคุณภาพการผลิตบัณฑิต อย่างเป็นระบบ จริงจัง(ถือเป็นโจทย์ชิ้นสำคัญสำหรับคณะครุศาสตร์ มรส.)

ในที่ประชุม เราได้เสวนาในเรื่องต่าง ๆ อาทิ

     1. คณาจารย์คณะครุศาสตร์ทุกคน จะต้องแตกฉานในหลักการและสาระสำคัญของกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ 6 มิติคุณภาพ และจะต้องมุ่งมั่นในการผลิตบัณฑิตให้มีสมรรถนะตามกรอบมาตรฐาน TQF โดยในอนาคต จะต้องทำการประเมินมาตรฐานสมรรถนะอย่างเป็นระบบ จริงจัง….ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยจำนวนมากยังทำ มคอ.3  มคอ.5  มคอ.7 เพียงเพื่อให้มีหลักฐานว่าได้ทำแล้ว(Sense of Survival) ไม่ใช่ทำเพื่อมุ่งหวังสู่ความเป็นเลิศ(Sense of Excellence)

 

     2. ในการจัดการเรียนการสอน จะต้องจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ทั้งนี้ในครั้งนี้ ได้เสวนาแนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน(Project-based Learning) และคาดหวังให้ใช้กระบวนการนี้ เป็นกระบวนการสำคัญรายการหนึ่ง ในการจัดประสบการณ์แก่นักศึกษา “การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน” น่าจะช่วยพัฒนา ทักษะทางปัญญา  ทักษะปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  ทักษะ ICT ทักษะเชิงตัวเลข ฯลฯ ได้เป็นอย่างดี

 

     3. การวิเคราะห์จุดเน้นที่แตกต่างระหว่าง Problem-based Learning กับ  Project-based Learning

     4. ลักษณะ โครงงานที่ควรใช้เป็นสื่อกลางในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้

         ประเภทโครงงาน ที่ทำได้

         –โครงงานประเภทสำรวจ (Survey Research Project)

         –โครงงานประเภททดลอง (Experimental Research Project)

         –โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ (Development Research Project)

         –โครงงานประเภททฤษฎี (Theoretical Research Project)

         ลักษณะโครงงานที่ควรส่งเสริมให้ทำ

         1)โครงงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียน

         2)โครงงานที่มุ่งพัฒนาชุมชน/ท้องถิ่น

         3)โครงงานศึกษา ค้นคว้า ภูมิปัญญาท้องถิ่น/ภูมิปัญญาไทย

         4)โครงงานแก้ปัญหาหรือพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษา

         5)โครงงานที่มุ่งเสริมสร้างสมรรถนะทางวิชาชีพ

5. การประชุมปฏิบัติการ ด้วยกิจกรรมสำคัญ ๆ ดังนี้

         กิจกรรม 1 :กำหนดเป้าหมายชีวิตเป้าหมายงาน ในการปฏิบัติงานในบทบาทของอาจารย์ระดับอุดมศึกษา

     ให้สมาชิกที่เข้ารับการอบรมรายบุคคลกำหนดเป้าหมายชีวิตหรือเป้าหมายผลงานในแต่ละรอบปี ให้ครอบคลุมในเรื่อง (1)การเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ  และ(2)การศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนานวัตกรรมในรอบปี 

 

        กิจกรรม 2 ออกแบบการเรียนรู้: จัดทำแนวจัดการเรียนรู้ในรายวิชาที่รับผิดชอบ  โดย กำหนดแนวการจัดประสบการณ์แต่ละหน่วยการเรียนรู้ กำหนดรายการกิจกรรมหลักๆ ที่นักศึกษาต้องปฏิบัติตลอดภาคเรียน(หรือตลอดปี)  ในลักษณะของโครงงาน  พร้อมกำหนดน้ำหนักคะแนนในแต่ละกิจกรรมแนวทางการวัดและประเมินผลงานแต่ละรายการ

        กิจกรรม 3 สัมมนากำหนดโครงงาน/ชิ้นงานแบบบูรณาการ  โดยผู้ให้สมาชิกที่สอนในระดับชั้นเดียวกัน/โปรแกรมวิชาเดียวกันร่วมสัมมนา รวบรวมรายการชิ้นงาน/โครงงานสำคัญ ๆ ที่นักศึกษาต้องทำในแต่ละภาคเรียน(หรือในแต่ละปี)

        กิจกรรม 4 จัดทำแผนจัดการเรียนรู้ในรายวิชา ตามแบบที่สถาบันกำหนด หรือตาม มคอ.3(มอบหมายให้แต่ละรายวิชาไปจัดทำ)

        กิจกรรม 5 จัดทำแผนกำกับติดตามงานจัดการเรียนการสอนของกลุ่มสาระ/โปรแกรมวิชา    ให้คณาจารย์แต่ละโปรแกรมวิชาร่วมกันกำหนดปฏิทินการกำกับติดตามและควบคุมคุณภาพการจัดการศึกษาของโปแกรมวิชา ให้ครอบคลุมกิจกรรมต่อไปนี้

             1) การสัมมนาความพร้อมในการจัดการศึกษาก่อนเปิดภาคเรียน..โดยนำเสนอ มคอ.3 และรายการนวัตกรรมโดดเด่นที่จะทดลองประจำภาคเรียน

             2) การสัมมนาความก้าวหน้าในการจัดการเรียนรู้ ทุก 1-2 เดือน …นำเสนอผลการจัดการเรียนการสอน บทเรียนดีๆ

             3) การสัมมนาเสนอผลการจัดการเรียนรู้ประจำภาคการศึกษาระดับโปรแกรมวิชา(และระดับคณะ)…โดยนำเสนอ มคอ.5  ผลการทดลองใช้นวัตกรรม และบทเรียนสำคัญ ๆ(BestPractice) พร้อมแนวทางการจัดการเรียนรู้ในภาคการศึกษาหรือปีการศึกษาต่อไป

            4)  การสัมมนาเสนอผลการจัดการศึกษาสิ้นปีการศึกษา…โดยนำเสนอผลงานจัดการศึกษาของรายวิชา  ของโปรแกรมวิชา  ผลงานศึกษา ค้นคว้า วิจัยหรือพัฒนานวัตกรรมในรอบปี(ควรมีการสัมมนาระดับโปรแกรมวิชา และระดับคณะ)

……..แผนกำกับติดตามและควบคุมคุณภาพการจัดการเรียนรู้ที่ชัดเจน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำความสำเร็จมาสู่คณะหรือโปรแกรมวิชา…….

         กิจกรรม 6 สัมมนาหาข้อสรุปเกี่ยวกับบทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษา ; ให้สมาชิกร่วมกันหาข้อสรุปเกี่ยวกับบทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษาในการส่งเสริมพัฒนาสมรรถนะนักศึกษา รวมถึงการประเมินสมรรถนะนักศึกษา ในรอบปีและก่อนจบการศึกษา(ไม่ได้ทำในที่ประชุม)
…….จากการทำกิจกรรมและนำเสนอความก้าวหน้า คาดว่า ทุกโปรแกรมวิชา มองเห็นแนวทางการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม  ขั้นตอนต่อจากนี้ เป็นเรื่องของการไปจัดทำรายละเอียด มคอ.3  การกำหนดโครงงานแบบบูรณาการ และการจัดทำปฏิทินการขับเคลื่อนที่ชัดเจน…

 

6. การหารือเกี่ยวกับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ  เห็นว่า

6.1 ควรกำหนดมาตรฐานสมรรถนะที่ต้องฝึกในระยะเวลา 1 ปี ให้ชัดเจน

6.2 ควรฝึกประสบการณ์ในช่วงเรียน ปี 2-4 ให้นักศึกษาจัดทำโครงงานศึกษา ค้นคว้า หรือพัฒนางานในโรงเรียน ร่วมกับโรงเรียนในทำเลที่ตั้งบ้านเกิด อย่างน้อยปีละ 1 โครงงาน

ประเด็นคำถาม

1. ในการจัดการเรียนการสอน “วิชา การวิจัยทางการศึกษา” อาจารย์ผู้สอนใช้วิธี Project-based Learning โดยมี 2 ทางเลือก คือ   1) จัดทำโครงการวิจัย 1 โครงการ วิจัยในประเด็นที่ตัวเองหรือสมาชิกในกลุ่มสนใจ (แล้วดำเนินการวิจัยจนแล้วเสร็จ) หรือ   2) ให้นักศึกษาไปปรึกษาหารือกับสถานศึกษาที่ตนเองสังกัด หรือโรงเรียนเดิมที่เคยเรียน แล้วร่วมกับคณาจารย์ในโรงเรียน ทำการศึกษา วิจัย 1 โครงการ เพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนางานตามความต้องการของโรงเรียน(ดำเนินการจนแล้วเสร็จ)….ท่านคิดว่า ทางเลือกใดเหมาะสมกว่า ด้วยเหตุผลใด

2.  ฝึกคิด วิเคราะห์ วันนี้…Problem-based Learning กับ Project-based Learning เหมือนกัน หรือต่างกัน อย่างไร

 

โดย  รศ.ดร.สุพักตร์  พิบูลย์

แหล่งที่มา : https://www.facebook.com/notes/suphak-pibool/